กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation – MLC)
พัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทย ในปี ๒๕๕๕ ที่จะจัดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำ ล้านช้าง – แม่น้ำโขง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมความร่วมมือในประชาคมอาเซียน ได้มีการจัดตั้งกรอบความร่วมมือขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน พ.ย. ๒๕๕๘ ซึ่งมีสมาชิก ๖ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน โดยปัจจุบันมีการดำเนินงานใน 5 สาขาหลัก ได้แก่ ความเชื่อมโยง ศักยภาพในการผลิต เศรษฐกิจข้ามพรมแดน ความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ การเกษตรและการขจัดความยากจน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเสนอมอบหมายหน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำ ทำหน้าที่หน่วยงานกลางในการประสานงานสาขาความร่วมมือทรัพยากรน้ำ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยหลักด้านนโยบายในการประสานงานการบริหารจัดการน้ำกับองค์กรนานาชาติ องค์การระหว่างประเทศ ความร่วมมือทวิภาคี พหุพาคี และเป็นหน่วยงานหลักในการกระจายภารกิจที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทุกหน่วยปฏิบัติ ตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 โดยในกรอบ ความร่วมมือ MLC สทนช.เริ่มเข้าร่วมเป็น คณะทำงานร่วม สาขาทรัพากรน้ำ(ฝ่ายไทย) ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2562 โดยผลงานในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สรุปได้ ดังนี้
การร่วมลงนาม MOU
คราวการประชุมวิสามัญครั้งที่ 1 (ระหว่างวันที่ 4 – 5 มิถุนายน 2562 ) ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำในฤดูน้ำมาก (1 มิถุนายน – 31 ตุลาคม) จากเขื่อนจิ่งหง และ ม่านอัน ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่าง จีนและประเทศสมาชิก 5 ประเทศ
การแจ้งเตือนกรณีฉุกเฉิน
โดยในปีที่ผ่านมา มีการแจ้งเตือนการปล่อยน้ำจาก เขื่อนจิ่งหง จำนวน 4 ครั้ง ประกอบด้วย วันที่ 8 เมษายน 2562, วันที่ 3 กรกฎาคม 2562 , วันที่ 5 สิงหาคม 2562 และ วันที่ 27 ธันวาคม 2562 โดย สทนช. ได้ทำหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานในพื้นที่ 8 จังหวัดทราบ พร้อมคาดการณ์ระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมการรับมือกับระดับน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลง
การเป็นเจ้าภาพในคราวประชุมหารือของคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำ
ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ ณ โรงแรมอมันตา อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เพื่อ ๑) แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์น้ำแล้งในภูมิภาคและการพยากรณ์ ๒) นำเสนอแนวทางการตอบสนองสถานการณ์น้ำแล้งของประเทศสมาชิก (การจัดการทรัพยากรน้ำ การปล่อยน้ำจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของจีนและลาว ปริมาณน้ำฝน ฯลฯ) และติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศ และ ๓) หารือแนวคิดเบื้องต้นของความร่วมมือด้านการจัดการน้ำแล้งภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง
การเข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยที่ประชุมได้กล่าวถึง ความคืบหน้าของความร่วมมือด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ แนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่าง 6 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พร้อมกำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะทำงานร่วมฯ เพื่อการวางแผนการดำเนินความร่วมมือ กำหนดแนวทางการสื่อสาร และการตัดสินใจเกี่ยวกับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ และความคาดหวังถึงการดำเนินงานร่วมกันในระยะต่อไป เพื่อการดำเนินงานให้บรรลุผลลัพธ์ตามเป้าหมาย