เมื่อวันที่ 22-24 มีนาคม 2566 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานด้านน้ำ ได้แก่ นายสุชัย เจนพจนารถ รองผู้อํานวยการวิชาการและแผน องค์การจัดการน้ำเสีย นางสาวทัศนีย์ เนตรทัศน์ ผู้อํานวยการสํานักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 3 สระบุรี กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นายอดิศร จำปาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน นางสาวภัทรียา วัฒนสิน นักการทูตชำนาญการพิเศษ กรมองค์การระหว่างประเทศ และผู้แทนจากกองการต่างประเทศและกองนโยบายและแผนแม่บท สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เดินทางเข้าร่วมการประชุมทบทวนการดำเนินการด้านน้ำในห้วงครึ่งแรกของทศวรรษระหว่างประเทศแห่งการดำเนินการ “น้ำสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ค.ศ. 2018 – 2028 ครั้งที่ 2 (UN 2023 Water Conference) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตน้ำทั่วโลกและตัดสินใจในการดําเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่ตกลงกันในระดับสากล และสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ต่าง ๆ และผลักดันประเด็นด้านน้ำของโลกไปสู่การบรรลุทศวรรษแห่งการดำเนินงานด้านน้ำ (Water Action Decade) โดยในการประชุมดังกล่าวประกอบด้วย 5 สาระสำคัญที่สนับสนุน SDG 6 Global Acceleration Framework ได้แก่ น้ำเพื่อสุขภาพ น้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน น้ำเพื่อสภาพภูมิอากาศ ความยืดหยุ่นและสิ่งแวดล้อม น้ำเพื่อความร่วมมือ และทศวรรษของการปฏิบัติการด้านน้ำ
ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในนามรัฐบาลไทย เน้นย้ำความสำคัญของการเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาล โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ชนบทและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสร้างความยืดหยุ่นในการรับมือกับภัยพิบัติด้านน้ำต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงประเด็นท้าทายที่ต้องเร่งผลักดันเพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติการด้านน้ำให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 อาทิ การลดช่องว่างทางการเงินสำหรับการพัฒนาและลงทุนด้านน้ำ การจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐานในระดับประเทศ พร้อมส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่คำนึงถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน ตลอดจนเร่งเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านน้ำ ผ่านการยกระดับความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และสร้างการตระหนักรู้ในคุณค่าน้ำให้กับเด็กและเยาวชน เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ได้ร่วมสนับสนุนผ่านถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสหประชาชาติ สำหรับการแต่งตั้ง UN Special Envoy on Water ทำหน้าที่สนับสนุนการขับเคลื่อนในระดับนโยบายด้านน้ำให้เป็นรูปธรรม และสามารถบรรลุเป้าหมายการเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาลภายในปี ค.ศ. 2030 สำหรับการประชุม Interactive Dialogue และการประชุมคู่ขนานที่เกี่ยวข้อง ประเทศไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมพร้อมนำเสนอถ้อยแถลง (Intervention) และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการที่ดี (Best practices) ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย