เมื่อวันที่ 14 – 15 ส.ค. 66 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และ ดร.วินัย วังพิมูล วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กองการต่างประเทศ สทนช. พร้อมด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกแม่น้ำโขงได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ได้เข้าร่วมการศึกษาและดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้ความร่วมมือลุ่มแม่น้ำแม่โขง-มิสซิสซิปปี (Mekong-Mississippi Sister Rivers Partnership Exchange) ณ นครลอสเองเจลลิส รัฐแคลิฟอเนียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยในวันที่ 14 ส.ค. 66 เป็นการประชุมและต้อนรับอย่างเป็นทางการระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC-Mekong) คณะกรรมาธิการแม่น้ำมิสซิสซิปปี (MRC-USA) องค์กรวิศวกรกองทัพสหรัฐฯ (USACE) และคณะกรรมาธิการน้ำและขอบเขตระหว่างประเทศ (IBWC) โดยได้ฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงของแม่น้ำแม่โขง-มิสซิสซิปปี พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เพื่อรับมือกับความท้าทายร่วมกันในอนาคต มีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงปริมาณการไหลของน้ำโขง ปริมาณตะกอน ขยะพลาสติกปนเปื้อนและคุณภาพน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อการบริหารจัดการด้านอุทกภัยและภัยแล้ง รวมถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่น่าเป็นห่วงที่สุดที่ลุ่มน้ำแต่ละแห่งกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ พร้อมกันนี้ ยังได้เรียนรู้ข้อมูลจาก IBWC เกี่ยวกับความร่วมมือและจัดการกับความท้าทายข้ามพรมแดนระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบริหารจัดการเขื่อนระหว่างประเทศ เพื่อลดข้อพิพาทและสร้างโอกาสในการพัฒนาในลุ่มน้ำระหว่างประเทศร่วมกัน โดยยกตัวอย่าง 2 กรณีศึกษา คือ ลุ่มน้ำรีโอแกรนด์ (Rio Grande River Basin) และลุ่มน้ำโคโรลาโด (Colorado River Basin) นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการการบริหารจัดการภัยในสภาวะฉุกเฉิน และการจัดการเขื่อนและอ่างเก็บน้ำของรัฐแคลิฟอเนียร์อีกด้วย
จากนั้นในวันที่ 15 ส.ค. 66 คณะผู้แทนในลุ่มน้ำโขงได้รับฟังการบรรยายและเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการการขับเคลื่อนด้วยเครื่องบินขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA JPL) ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งของสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology) โดยคณะผู้แทนได้เยี่ยมชมผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ NASA JPL พัฒนาขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีสำหรับการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) และการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) รวมถึงการพยากรณ์ด้านน้ำท่วมและภัยแล้ง และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ซึ่ง NASA ได้ผลิตและแบ่งปันข้อมูลจำนวนมหาศาลแก่สาธารณะเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานในด้านต่าง ๆ โดย MRC สนใจเพื่อนำมาใช้ในการศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผล เพื่อการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดน เช่น การบริหารจัดการเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ การจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง การจัดการเรื่องตะกอนและคุณภาพน้ำ รวมถึงการศึกษาติดตามและจัดการปริมาณขยะพลาสติกในน้ำ เป็นต้น จากนั้น คณะผู้แทนฯ ได้เยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับคาสเต็ก (Castaic Power Plant) ขนาด 1,265 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำระบบสูบกลับและกักเก็บน้ำนี้ สามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานเสริมนอกเหนือจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ลม และแสงอาทิตย์ได้ รวมทั้งยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ด้านอื่น ๆ ในอนาคต ทั้งนี้ การศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ครั้งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำในประเทศไทยต่อไป