เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เวลา 15.00 น. ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นายสาโรจ คุมาร์ จาร์ (Mr. Saroj Kumar Jha) ผู้อำนวยการใหญ่ด้านภารกิจทรัพยากรน้ำของธนาคารโลก และนายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน (Mr. Fabrizio Zarcone) ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย พร้อมคณะ เข้าเยี่ยมคารวะนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เข้าร่วมให้ข้อมูลด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วย
โดยรองนายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้พบธนาคารโลกประจำประเทศไทยที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศไทยในหลายด้าน และทราบว่าเมื่อเช้านี้ที่ได้มีการประชุมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ถึงแผนงานปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง และแผนงานปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก ซึ่งรัฐบาลหวังว่า ธนาคารโลกและ สทนช. จะได้ประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมถึงหวังว่าธนาคารโลกจะได้ศึกษาประเด็นเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพิ่มเติม ทั้งเรื่องน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็มรุกล้ำ การกัดเซาะตลิ่ง – ชายฝั่ง
ทั้งนี้ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าวแสดงความยินดีกับการเข้ารับดำรงตำแหน่งของรองนายกรัฐมนตรี และเป็นโอกาสในการหารือความร่วมมือทางด้านทรัพยากรน้ำ ซึ่งธนาคารโลกเป็นหุ้นส่วนกับไทยและมีส่วนร่วมในคำปรึกษาทั้งด้านการเงิน การพัฒนา รวมถึงบริหารจัดการน้ำกับประเทศไทยมายาวนาน จึงพร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับรัฐบาล รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเทคนิค องค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และงบประมาณ โดยเฉพาะความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำระหว่างทั้งสองฝ่าย เพื่อผลประโยชน์ต่อประชาชนไทย
ในด้านผู้อำนวยการใหญ่ด้านภารกิจทรัพยากรน้ำของธนาคารโลกชื่นชมในการพัฒนาของไทย และกล่าวชื่นชมรัฐบาลในการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ โดยธนาคารโลกพร้อมจะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ ทั้งเรื่องความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำ การเข้าถึงน้ำสะอาดในการอุปโภคและบริโภค การใช้น้ำเชิงเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งสำนักงานของธนาคารโลกในกรุงเทพฯ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และองค์ความรู้ ที่พร้อมร่วมมือกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้
1. การบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง รองนายกรัฐมนตรีและธนาคารโลกต่างมองว่า ปัญหาอุทกภัยและน้ำแล้งในแม่น้ำโขงเป็นปัญาที่เกี่ยวข้องกับหลายประเทศ และกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ต่อระบบนิเวศและสัตว์น้ำในแม่น้ำโขง ทั้งสองฝ่ายจึงพร้อมทำงานร่วมกัน เพื่อศึกษาเพิ่มเติมและแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญดังกล่าว
2. การก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาและสะพานเชื่อมเกาะลันตา ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า การพัฒนาและการก่อสร้าง ต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเฉพาะผลกระทบต่อโลมาอิรวดี ซึ่งเป็นโลมาน้ำจืดที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว โดยทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด
3. การบรรเทาอุทกภัยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แผนบรรเทาอุทกภัยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่ธนาคารโลกและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประชุมร่วมกันในวันนี้ นับว่าประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้รัฐบาลได้วางแผนเพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายจากอุทกภัยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
และ 4. การป้องกันการรุกตัวของน้ำทะเลและการกัดเซาะชายฝั่ง รองนายกรัฐมนตรีหวังว่าธนาคารโลกจะได้ศึกษาเพิ่มเติมถึงแนวทางในการป้องกันการรุกตัวของน้ำทะเลและการกัดเซาะชายฝั่ง โดยให้ประสานกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมเจ้าท่า เพื่อหารือในรายละเอียดร่วมกันต่อไป