เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เป็นประธานเปิดการประชุม
เชิงปฏิบัติการ “โครงการ Capacity Building on Dispute Management for River Basin Committees” ร่วมกับ ดร.จอห์น ฟรานซิส ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย โดยโครงการนี้ดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระหว่าง สทนช. และกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินการจัดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจำนวน 3 กรณีศึกษา ใน 3 ลุ่มน้ำของไทย โดยมีนายชยันต์
เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. ผู้อำนวยการกองต่าง ๆ ผู้แทนจาก สทนช. ผู้แทนจากหน่วยงานด้านน้ำของไทย ผู้แทนจากคณะกรรมการลุ่มน้ำ และผู้แทนจากภาคประชาชน รวมถึงผู้แทนจาก Australian Water Partnership รวมทั้งสิ้น 70 คน เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการดังกล่าว
ณ ห้องประชุมกรุงเทพ 2 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว กรุงเทพฯ
ที่ประชุมฯ ได้นำเสนอแนวทางการจัดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านน้ำของไทย โดย นายศิริวัฒนา
1ตอวิวัฒน์ ผอ.กองกฎหมาย และการถอดบทเรียนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านน้ำของออสเตรเลีย
โดยนางคาร์ลีน เมย์วาล์ด และนายสตีฟ มอร์ตัน จาก Australian Water Partnership พร้อมทั้ง
การเสวนาการบริหารจัดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านน้ำ 3 กรณีศึกษาใน 3 ลุ่มน้ำ ได้แก่
(1) กรณีขาดแคลนน้ำ ในลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก (2) กรณีน้ำท่วม ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และ (3) กรณีคุณภาพน้ำ ในลุ่มน้ำแม่กลอง โดยผู้ร่วมเสวนา ได้แลกเปลี่ยนมาตรการ และกลไกทางนโยบายในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจากบทเรียนของทั้งสองประเทศซึ่งฝ่ายไทยได้เน้นย้ำถึงการดำเนินงานอย่าง
บูรณาการกับทุกภาคส่วนในการจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความขัดแย้งทั้งภายใน
และภายนอกลุ่มน้ำที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการรับฟังปัญหาจากภาคประชาชน แลผู้ที่เกี่ยวข้อง
ฝ่ายออสเตรเลียได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่น การเปิดโอกาสให้
ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม การสร้างความเข้าใจด้านน้ำ (Water literacy) การดำเนินการอย่างบูรณการของหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนความโปร่งใสในการบริหารจัดการน้ำที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบถึงปัญหา และจะนำข้อเสนอแนะจากการประชุมมาใช้ในการวิเคราะห์จัดทำ “คู่มือแนวทางการจัดการเพื่อบรรเทาข้อพิพาทของประเทศไทย (Guidance for Thailand’s Dispute Mitigation)” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการลุ่มน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเสริมสร้างความเข้าใจให้แก่คณะกรรมการลุ่มน้ำ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละลุ่มน้ำ
ในโอกาสนี้ ที่ประชุมฯ ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับออสเตรเลีย
และยินดีกับความคืบหน้าในความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ รวมถึงความสำคัญของการ
ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ และการเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ประเทศไทย ในด้านที่ออสเตรเลีย มีศักยภาพ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต