“ประเทศไทย” เป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 57
ณ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ติดตามความก้าวหน้าแผนงาน/โครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขง พร้อมกระชับความสัมพันธ์กว่า 30 ปี ของ 4 ประเทศสมาชิก ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อขับเคลื่อน
การใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุล เท่าเทียมและยั่งยืน
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 57 (The 57th Meeting of the MRC Joint Committee) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายน 2567 ณ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย หัวหน้าคณะผู้แทนและเจ้าหน้าที่จากประเทศสมาชิกอีก 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมี Dr.Anoulak Kittikhoun Chief Executive Officer of the Mekong River Commission (MRCS CEO) นายชยันต์ เมืองสง
รองเลขาธิการ สทนช. ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วย ผู้แทนจากกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สทนช. ว่า การประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าและร่วมพิจารณาในประเด็นต่างๆ อาทิ การพัฒนากลไกความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสารสนเทศ รวมถึงการอนุมัติแผนปฏิบัติการสำหรับการแบ่งปันข้อมูล, สถานะทางการเงินของ MRC ประจำปี 2566 และข้อมูลสถานะทางการเงินของ MRC ณ เดือนเมษายน 2567, การพิจารณาตรวจสอบแผนยุทธศาสตร์ของ MRC ในช่วงกลางปี (MTR) และแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามปฏิญญาเวียงจันทน์, ระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และความคืบหน้ากระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนสานะคามและเขื่อนภูงอย สปป.ลาว และแผนปฏิบัติการร่วมของโครงการเขื่อนปากแบง ปากลาย และเขื่อนหลวงพระบาง, การวางแผนลุ่มน้ำระดับภูมิภาคเชิงรุก (PRP) รวมถึงสรุปผลการปรับปรุงระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (DSF) ระยะที่ 1, การดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน (TbEIA) แบบสมัครใจ ตามแนวทางด้านเทคนิคของ MRCS กรณีโครงการพลังงานน้ำพลังงานไฟฟ้าเซกองตอนล่าง (ไซต์ A) และแนวทางการดำเนินงานขั้นต่อไป เป็นต้น
สำหรับคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Joint Committee) ประกอบด้วยผู้แทนระดับไม่ต่ำกว่าอธิบดีของประเทศสมาชิกประเทศละ 1 คน มีการประชุมปีละ 2 ครั้ง ประธานคณะกรรมการร่วมมีวาระ 1 ปี หมุนเวียน ตามลำดับ โดยในปีนี้ เป็นครั้งที่ 57 มีประเทศไทยเป็นประธานคณะกรรมการร่วมและเป็นเจ้าภาพ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ คณะกรรมการร่วมฯ ได้ร่วมพิจารณาในแผนงาน/โครงการ และวาระสำคัญๆ หลายวาระด้วยกัน เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแม่น้ำโขง โดยผลการร่วมพิจารณาในครั้งนี้ จะถูกนำเสนอต่อคณะมนตรีของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC Council) ในการประชุมครั้งถัดไป
“ในปีหน้าหรือ พ.ศ. 2568 ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRCS CEO จะเป็นผู้แทนจากประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการสรรหา
ซึ่งเชื่อว่าผู้แทนจากประเทศไทยจะส่งผลให้ไทยมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนการพัฒนาลุ่มน้ำโขงให้เป็นไปตามเป้าหมายร่วมกัน ที่มุ่งสร้างความเท่าเทียมและความสมดุลในระหว่างประเทศสมาชิก และเกิดความยั่งยืนของลุ่มน้ำโขงในที่สุด” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย