เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติด้านน้ำ แม่โขง-เกาหลี ครั้งที่ 2 (2nd Mekong – Korea International Water Forum: 2nd MKWF) ณ สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)
สำหรับการประชุม MKWF เวทีน้ำนานาชาติประจำปีระหว่างประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและหุ้นส่วนการพัฒนา ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งรวมถึงผู้แทนระดับรัฐมนตรี ผู้แทนระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ และผู้ที่เกี่ยวข้องจากอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ร่วมกันอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นน้ำ แนวทางแก้ไข และการขยายความร่วมมือกับหุ้นส่วนอื่นๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศลุ่มน้ำโขงในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างและบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือที่มีอยู่และเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาแนวทางการดำเนินการด้านน้ำที่มีประสิทธิภาพ
โดยมีการประชุม 1st MKWF เมื่อวันที่ 5 – 6 ตุลาคม 2565 ณ สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งในการประชุมครั้งดังกล่าว ประเทศไทยได้เน้นย้ำสานสัมพันธ์ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – แม่น้ำฮัน เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ลุ่มน้ำภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียน
ในส่วนการประชุม 2nd MKWF จัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก “Climate Resilience through Digital Water Management in the Mekong Region” เพื่อเป็นเวทีให้ผู้แทนระดับสูงจากประเทศลุ่มน้ำโขง ได้ร่วมกันให้ข้อคิดเห็นและอภิปรายประเด็นการบริหารทรัพยากรน้ำด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในการรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือด้านการจัดการทรัพยากรน้ำในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน
โอกาสนี้ นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. และคณะได้เข้าร่วมการประชุมระดับสูง (High Level Dialogue) โดยได้ร่วมอภิปราย เรื่อง “แนวทางการดำเนินการในอนาคตต่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในลุ่มน้ำโขง” ร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐเกาหลี ผู้แทนประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงจาก สปป. ลาว กัมพูชา เวียดนาม ผู้แทนจากประเทศคู่เจรจา (Dialogue partner) ประเทศเมียนมา และผู้แทนจากหุ้นส่วนการพัฒนา (Development partner) จากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา (USAID) โดยไทยได้หยิบยกประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และเสนอให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการคาดการณ์ พยากรณ์ การบริหารจัดการร่วมกัน การเฝ้าระวัง และการติดตามผลกระทบ โดยคาดหวังว่าผลการหารือในการประชุมครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญต่อไป
นอกจากนี้ รองเลขาธิการ สทนช. และคณะ ยังได้เข้าร่วมการประชุมที่อื่นๆ เกี่ยวข้อง อาทิ การอภิปรายแบบโต๊ะกลมร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนาลุ่มน้ำโขง การเสวนาสำหรับการประชุมกลุ่มย่อยตามรายสาขา และการประชุมคู่ขนาน โดยได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศด้านการบริหารทรัพยากรน้ำในที่ประชุมด้วย
ที่ประชุมได้มีข้อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญต่อ 1) การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (System water preparedness for climate change impacts) ผ่านการวางกลยุทธ์โดยคำนึงถึงแนวทางการพัฒนาของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ ยกระดับความมั่นคงด้านน้ำในลุ่มน้ำข้ามพรมแดน และใช้ Nature-based solutions เป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการ นำไปสู่สังคมคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon Neutrality) 2) งบประมาณด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate finance) เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนน้อยลง ทั้งนี้ การสนับสนุนทางการเงินยังช่วยสนับสนุนการส่งถ่ายเทคโนโลยีจากประเทศที่มีความก้าวหน้ามากกว่าไปยังประเทศผู้รับได้อีกทางหนึ่ง และ 3) การแบ่งปันข้อมูล (Data sharing) โดยให้มีการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างโปร่งใส เพื่อก่อให้เกิดการเติบโตอย่างเท่าเทียมและครอบคลุม นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกแม่น้ำโขงควรต้องให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำ โดยมีการยกร่างแผนการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมด้วย