เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วย นางพัชรวีร์ สุวรรณิก ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนแม่บท สทนช. นายชุมลาภ เตชะเสน ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สทนช. และนางสาวปิยะชนก อิสโร นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ สทนช. เข้าร่วมประชุมหารือกับสถาบัน China Institue of Water Resources and Hydropower Reserach (IWHR) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี Dr. PENG Jing ประธาน และคณะผู้บริหาร จากหน่วยงาน IWHR ได้ให้การต้อนรับ
โดยการประะชุมดังกล่าวได้มีการนำเสนอภาพรวม ภารกิจ นโยบาย รวมถึงการดำเนินโครงการสำคัญของทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งหน่วยงาน IWHR เป็นสถาบันวิจัยระดับประเทศภายใต้กระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อตั้งมาแล้วกว่า 60 ปี เปรียบเสมือนคลังสมองที่ทำหน้าที่ศึกษาวิจัยงานที่เกี่ยวข้องด้านทรัพยากรน้ำและไฟฟ้าพลังน้ำอย่างครอบคลุมในทุกมิติ เช่น อุทกวิทยาและทรัพยากรน้ำ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยา การบริหารจัดการน้ำท่วมและภัยแล้ง การลดภัยพิบัติ การอนุรักษ์ดินและน้ำ การจัดการน้ำและทะเลสาบ ระบบชลศาสตร์ เครื่องจักรพลังน้ำ วิศวกรรมแผ่นดินไหว และพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
ทั้งนี้ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. และคณะ ได้เยี่ยมชมศูนย์วิจัยของภาคระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมด้านน้ำ (Department of Water Ecology and Environment) ที่ดำเนินงานวิจัยโดยมุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาของน้ำเพื่อใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมี Mr. Wu Wenqiang, รองผู้อำนวยการระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมด้านน้ำ เป็นผู้นำเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการต่างๆ
ภายหลังการเยี่ยมชมศูนย์วิจัยหลักของ IWHR คณะจาก สทนช. ยังได้ศึกษาดูงานโครงการผันน้ำ Tuancheng Lake regulating reservoir of the South to North Water Diversion Project ซึ่งเป็นโครงการผันน้ำจากใต้สู่เหนือที่สำคัญในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในทางเหนือของจีน โครงการดังกล่าววางแผนเส้นทางการผันน้ำ 3 สายในบริเวณตอนล่าง ตอนกลาง และตอนบนของแม่น้ำแยงซีเกียง เส้นทางผันน้ำทั้งสามสายนี้เชื่อมโยงถึงแม่น้ำแยงซี แม่น้ำเหอ แม่น้ำเหลือง และแม่น้ำไห่เหอ ก่อให้เกิดรูปแบบโดยรวมของแหล่งน้ำของจีน “การจัดสรรน้ำในแนวนอนสี่แห่งและแนวตั้งสามแห่ง เหนือ-ใต้ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างตะวันออก-ตะวันตก” ความสามารถในการผันน้ำรวมของโครงการอยู่ที่ 44.8 พันล้านลูกบาศก์เมตร และปัจจุบันส่งน้ำได้เป็นจำนวน 17 พันล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือเป็นโครงการสำคัญในการสร้างความสมดุลเพื่อรองรับความต้องการในการใช้น้ำของประชาชนพื้นที่ให้พอเพียง โดยผลลัพธ์จากการเข้าร่วมประชุมและศึกษาดูงานในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในการนำแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจีนไปปรับใช้อย่างเหมาะสมภายใต้บริบทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย รวมถึงสานสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานด้านน้ำของประเทศไทยและจีนเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตต่อไป