เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะผู้แทน สทนช. หารือร่วมกับนายร็อบเบิร์ต โมรี (Mr.Robbert Moree) ผู้ประสานงานนโยบายด้านทรัพยากรน้ำและสภาพภูมิอากาศ กระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำ (Ministry of Infrastructure and Water Management) ซึ่งเป็นหน่วยงานคู่ภาคีตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการและการรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และผู้แทนจากหน่วยงานคณะกรรมการด้านน้ำแห่งเนเธอร์แลนด์ (Union of Dutch Water Boards) ณ กระทรวงโครงสร้างพื้นฐานฯ กรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
สาระสำคัญการหารือมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในระดับนโยบายด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม (saltwater intrusion) การปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation หรือ EbA) การเก็บภาษีน้ำ (water tax) และการจัดตั้งกองทุนน้ำ (water fund) ซึ่งเป็นประเด็นที่เนเธอร์แลนด์มีความเชี่ยวชาญ และมีนวัตกรรมรวมถึงแนวทางการทำงานที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เสนอแนวทางขับเคลื่อนการการดำเนินงานความร่วมมือภายใต้ MOU ระหว่างไทย-เนเธอร์แลนด์ ใน 3 แนวทางหลัก ประกอบด้วย
1. จัดส่งเจ้าหน้าที่ สทนช. เข้ารับการอบรมในหลักสูตรนโยบายด้านน้ำและสิ่งแวดล้อม (Water and Environmental Policy) ระยะเวลา 3 เดือน ณ สถาบันศึกษาวิจัยและพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำ (IHE Delft Institute for Water Management) รวมถึงการจัดหลักสูตรอบรมให้กับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝ่ายไทย
2. ร่วมกันจัดทำและออกแบบหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านน้ำของไทย (Capacity Building Program) ในประเด็นที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น แผนบูรณาการระดับชาติว่าด้วยการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Integrated National Plan on Climate Change Adaptation), การจัดตั้งกองทุนน้ำ (Water Fund), แนวทางการบูรณาการการบริหารจัดการปากแม่น้ำ (Integrated Delta Approach) เป็นต้น
และ 3. การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมดำเนินงาน (Joint Steering Committee: JSC) เพื่อขับเคลื่อนโครงการสำคัญภายใต้ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศ ภายใต้เอ็มโอยูให้เป็นรูปธรรมต่อไป โดยฝ่ายไทยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบให้เร่งการขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้ง 3 ด้าน ทั้งยังแสดงความมุ่งมั่นที่จะสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมภายใต้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องต่อไป