วันที่ 4 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 น. นายชุมลาภ เตชะเสน ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำ
แห่งชาติ เข้าร่วมบรรยายในหัวข้อ สถานการณ์ความมั่นคงของลุ่มน้ำโขง จากอดีต สู่อนาคต
พร้อมกับผู้บรรยายร่วม นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สื่อมวลชนอิสระ อดีตรองผู้อำนวยการด้านข่าว
และรายการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และ นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการมูลนิธิแม่น้ำนานาชาติ
โดยมี นายวินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ เข้าร่วมรับฟังการบรรยายดังกล่าวด้วย
โดยขอบเขตการบรรยายฯ ครั้งนี้ ผู้ช่วยเลขาฯ เสนอความสำคัญของลุ่มน้ำโขง
ในแต่ละด้าน จุดเริ่มต้นของกลไกการขับเคลื่อนความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขงตั้งแต่ในอดีต จนพัฒนามาเป็นคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ในปี 1995 หรือที่เรียกว่า ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 (The 1995 Mekong Agreement) ที่ดำเนินการมาจน
ถึงปัจุจบัน ระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องและภาพรวมของโครงสร้างในการบริหารของคณะกรรมการแม่น้ำโขง ทิศทางและกรอบความร่วมมือที่เชื่อมโยงกันในแต่ละยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ด้านพลังงานและด้านเศรษฐกิจ ที่มีองค์กรภาครัฐเป็นแกนหลักในการบูรณาการความร่วมมือต่างๆ ที่ครอบคลุมในทุกมิติบริเวณลุ่มน้ำโขง ภัยคุกคามที่น่ากังวล รวมไปถึง การแบ่งปันประสบการณ์และนโยบายของ สทนช.
ที่จะช่วยผลักดันและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของคนในประเทศ ทั้งภาคประชาชนและภาคการศึกษา
ที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ริมฝั่งโขงของประเทศไทย
ผู้ช่วยเลขาฯ ยังได้ให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดในประเด็นคำถามจากผู้เข้าร่วมอบรม
ที่เข้าร่วมรับฟัง อาทิ ข้อกังวลของโครงการขุดคลองฟูนัน เตโช ข้อกังวลของการสร้างเขื่อน
และผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมในไทย และข้อกังวลที่เกี่ยวกับกลไกความร่วมมือในประเทศ ที่จะทำอย่างไรให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน การลดมลพิษทางน้ำและการตระหนักถึงความขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
การบรรยายฯ ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้แบ่งปันประสบการณ์การบริหารจัดการ
ลุ่มน้ำโขง ของ สทนช. แก่ผู้เข้าร่วมอบรมระดับผู้บริหารทุกคนรับฟัง และยังสามารถ
นำข้อเสนอแนะและข้อคิดที่มีประโยชน์ต่างๆ ไปปรับใช้และพัฒนาองค์กรของตนเองในอนาคต
ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมระดับผู้บริหารเข้าใจถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ
รูปแบบภัยคุกคามมิติต่าง ๆ ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และประเทศไทย สถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศ และภายในประเทศ สามารถวิเคราะห์ ใช้เครื่องมือในการตรวจสอบ และบริหารจัดการความมั่นคงแห่งชาติได้อย่างเหมาะสม เพื่อมุ่งส่งเสริมให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ ทั้งจาก ส่วนราชการ ภาคเอกชน
และบุคคลทั่วไป มีจิตสำนึกตระหนักถึงภัยคุกคามในมิติต่าง ๆ ที่มีผลต่อความมั่นคงแห่งชาติ และเข้ามามีบทบาทหรือมีส่วนร่วมกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงต่อไป