เมื่อวันที่ 9 – 11 ธันวาคม 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP28) ณ เมืองดูไบ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรสต์ โดยมีนางพัชรวีร์ สุวรรณิก ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนแม่บท
พร้อมด้วย นางวิมลภัทร บำบัดสรรพโรค คำกันยา ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์เศรษฐกิจโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และนางสาวปิยะชนก อิสโร ผู้อำนวยการกลุ่มวิเทศสัมพันธ์ เป็นผู้แทนจาก สทนช. เข้าร่วมคณะ
โดยในการประชุมดังกล่าว สทนช. ได้เข้าร่วมหารือระดับทวิภาคีระหว่างไทยและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมี
พลเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ
สิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และ H.E. Mr. Mark Harbers Minister of Infrastructure and Water Management เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้ การหารือเน้นการสร้างความยืดหยุ่น
ในการตั้งรับปรับตัวของชุมชนเมืองภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้ความสำคัญกับ
การจัดการน้ำท่วมและการกัดเซาะในพื้นที่เมือง โดยทางฝ่ายเนเธอร์แลนด์นำเสนอแนวทาง Water as Leverage ซึ่งผนวกแนวคิด Nature-based Solution ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำเพื่อให้เมืองและประชาชนเมืองเสริมสร้างศักยภาพและความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ในการนี้
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับทราบบทบาทของ สทนช. ในการเป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการบูรณาการนโยบายด้านน้ำของประเทศ และเห็นควรให้มีการหารือในระดับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันความร่วมมือดังกล่าว ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยโดย สทนช. และรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ โดยกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการบริการจัดการน้ำต่อไป
การเข้าร่วมประชุม COP 28 ในปีนี้ นับเป็นโอกาสแรกที่ สทนช. ได้มีโอกาสเรียนรู้และแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานด้านนโยบายภาคส่วนน้ำกับผู้แทนกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หลังจากที่มีการปรับปรุงภารกิจและโครงสร้างหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ โดย ผู้แทน สทนช. ได้เข้าร่วมการประชุมต่างๆ และรับทราบผลการหารือที่สำคัญ
ซึ่งเป็นข้อตกลง/ข้อริเริ่มร่วมกันของประเทศภาคีสมาชิก 197 ประเทศ โดยในประเด็นเกี่ยวข้องที่ สทนช. ต้องเร่งขับเคลื่อนร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานภาคส่วนน้ำมากกว่า 40 หน่วยงานของประเทศไทยต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการจัดทำแผนการปรับตัวของประเทศ (National Adaptation Plan) ซึ่งมีภาคน้ำเป็นหนึ่งในสาขาที่ประเทศให้ความสำคัญ โดยต้องเร่งประเมินความท้าทายและช่องว่างที่ผ่านมา และกำหนดความต้องการในด้านเทคนิค องค์ความรู้ และ
การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่สำคัญ เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมต่อไป