สทนช. นำคณะผู้แทนฝ่ายไทยร่วมถก MRC กำหนดนโยบายความร่วมมือการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เคาะ TOR สรรหาผู้บริหาร MRCS ไทยชูนโยบายพัฒนาโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและรับประโยชน์ร่วมกัน เน้นการเชื่อมโยงระหว่าง น้ำ พลังงาน อาหาร และระบบนิเวศ หวังใช้แม่น้ำโขงพัฒนาการเกษตร
ที่ยั่งยืนและสร้างความมั่นคงทางอาหาร
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้รับมอบหมายจาก
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมคณะมนตรี
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 30 (Mekong River Commission: MRC) และการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกับหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 28 ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา
ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ร่วมกับ คณะมนตรีจากประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีนและเมียนมา และประเทศหุ้นส่วนการพัฒนา ได้แก่ ออสเตรเลีย เยอรมนีญี่ปุ่น ลักเซมเบิร์ก สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา โมร็อกโก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และองค์กร WWF Asia-Pacific พร้อมด้วยคณะผู้แทนฝ่ายไทยประกอบด้วย
นายกิตติกร โล่ห์สุนทร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ
ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สทนช. โดยในปี 2566 ราชอาณาจักรกัมพูชาซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีฯ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
โดยการประชุมในครั้งนี้ ประเทศสมาชิกได้ร่วมหารือและกำหนดนโยบายความร่วมมือในการพัฒนา
ลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน การบริหารองค์กรของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และกำหนดแนวทาง
ความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา รวมถึงหุ้นส่วนการพัฒนา และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
โดยการประชุมแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 เป็นการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 30 ประกอบด้วยคณะมนตรีประเทศสมาชิก 4 ประเทศ ได้ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบการสรรหาตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat: MRCS) โดยการอนุมัติร่างขอบเขตการดำเนินงาน (Term of Reference: TOR) ของ MRCS CEO ตามที่ประเทศไทยได้เสนอปรับเพิ่มการขยายโอกาสให้กับผู้ที่ทำงานในภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจสามารถเข้ารับการสมัครและคัดเลือกตำแหน่งดังกล่าวด้วย การประชุมช่วงที่ 2 เป็นการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกับหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 28 ที่ประชุมได้รับทราบ
ความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่สำคัญของ MRCS ในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ ความร่วมมือกับพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติของ MRC การดำเนินการตามแผนระดับภูมิภาคเชิงรุก เครือข่ายติดตามเฝ้าระวังหลักแม่น้ำโขง การจัดเตรียมรายงานสถานการณ์ของลุ่มน้ำโขง ปี พ.ศ. 2566 ความก้าวหน้าการศึกษาร่วม เรื่อง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพทางอุทกวิทยาของลุ่มน้ำโขง – ล้านช้าง และรายงานสภาพทางอุตุ-อุทกวิทยาและสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ปี พ.ศ. 2566
ทั้งนี้ สำหรับการประชุมครั้งต่อไป จะมีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในฐานะประธาน
คณะมนตรีฯ ประจำปี พ.ศ. 2567 เป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดประชุมฯ